สมุนไพรตะคร้ำ

สมุนไพรตะคร้ำ

ตะคร้ำ Garuga pinnata Roxb.
บางถิ่นเรียก ตะคร้ำ (กลาง เหนือ) กะตีบ แขกเต้า ค้ำ หวีด (เหนือ) ปีซะออง (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) อ้อยนำ (จันทบุรี)

  ไม้ยืนต้น สูง 10-15 เมตร เปลือกสีเทา ตามกิ่งอ่อนมีขน. ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบที่ปลายก้านเพียงใบเดียว ยาว 25-30 ซม. เมื่อยังอ่อนอยู่มีขน เจริญเต็มที่แล้วเกลี้ยง มักจะติดหนาแน่นอยู่ตามปลายกิ่ง ใบย่อย 9-10 คู่ รูปขอบขนาน รูปรี หรือ รูปหอก ปลายใบแหลมเป็นติ่ง ขอบใบหยักกลม โคนใบแหลม หรือ มน เบี้ยว เส้นใบ 10-12 คู่ ก้านใบสั้นมาก ประมาณ 1-2 มม. ดอก ออกเป็นช่อที่ยอดยาวประมาณ 15 ซม. ก้านดอกมีขน ยาวกว่ากลีบรองกลีบดอก กลีบรองกลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ปลายแยกเป็น 5 กลีบ, มีขน กลีบดอกรูปขอบขนานแกนรูปหอก ปลายงอ ยาวกว่ากลีบรองกลีบดอก สีครีม ชมพูหรือเหลือง มีขน เกสรผู้ 10 อัน ก้านเกสรโคนกว้างปลายเรียว มีขน เกสรเมีย 1 อัน มี 4-5 ช่อง ท่อเกสรเมียตั้งตรง ปลายเกสรเมียเป็นตุ่มๆ 4-5 ตุ่ม แต่ละช่องมีไข่อ่อน 2 ใบ. ผล รูปกลม มีเนื้อนุ่ม ภายในมีผิวแข็งหุ้ม เมล็ดสีเขียวอมเหลืองแก่จัดสีดำ.

นิเวศน์วิทยา : พบขึ้นตามที่ราบตามป่าโปร่งและป่าผลัดใบ.

สรรพคุณ : ผล เป็นยาบำรุงธาตุ บำรุงกระเพาะอาหาร น้ำคั้นจากใบ ผสมกับน้ำผึ้งใช้รักษาโรคหืด น้ำคั้นจากลำต้น ใช้หยอดตาแก้ตามัวเนื่องจากเยื่อตาอักเสบ น้ำฝากจากเปลือก รับประทานแก้บิด แก้ท้องร่วง ทาภายนอกเป็นยาห้ามเลือด แช่ล้างบาดแผลเรื้อรัง

 

รูปภาพจาก:samunpri.com,qsbg.org,สมุนไพร